– กรมป่าไม้ และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จับมือร่วมกันค้นหาป่าชุมชนต้นแบบในการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เพื่อขยายผลรองรับเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน 10 ล้านไร่ด้วยการจัดตั้งป่าชุมชนให้ได้ 15,000 แห่ง ภายใน 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2562-2566 เป้าหมายดังกล่าวยังเป็นการตอบสนองต่อเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 15 ในการปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบกอย่างยั่งยืน การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน อีกด้วย
นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่เพียงมุ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าทางสังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย ในด้านสิ่งแวดล้อมบริษัทฯ มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งสองประเด็นนี้ เป็นที่มาของการริเริ่มโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ที่เน้นการปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศบกอย่างยั่งยืน โดยผ่านการส่งเสริมชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 15 และเป้าประสงค์ ที่ 15.2 ที่ส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ ช่วยกันส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ฟื้นฟูป่าไม้ที่เสื่อมโทรม รวมทั้งปลูกป่าในพื้นที่ที่ไม่เคยเป็นป่ามาก่อน สำหรับปีนี้บริษัทฯ และกรมป่าไม้ ก็จะร่วมกันจัดกิจกรรมประกวดป่าชุมชนตัวอย่างระดับประเทศต่อเนื่อง เพื่อคัดสรรชุมชนที่จะเป็นแบบอย่างในการพัฒนาและจัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืน ที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2551-2562 มีป่าชุมชนตัวอย่างที่อยู่ภายใต้โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน รวม 1,683 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 14.9) ป่าชุมชนตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนการอนุรักษ์ป่า สร้างคนรุ่นใหม่ และขยายแนวร่วมป่าชุมชน ส่วนพื้นที่ป่าของป่าชุมชนตัวอย่างรวม 1.5 ล้านไร่ ยังจะเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีช่วยลดภาวะโลกร้อน และหากจะมองในมิติมูลค่าของป่าไม้ก็สามารถพิจารณาจากมูลค่าการให้บริการระบบนิเวศของป่าไม้อันได้แก่ การป้องกันการพังทลายของดิน การดูดซับน้ำใต้ดิน ธาตุอาหาร การไหลผ่านของน้ำและการช่วยลดอุณหภูมิ ซึ่งจากการศึกษาของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO เมื่อเดือนกันยายน 2560 พบว่า ป่าไม้ให้บริการระบบนิเวศ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 89,737.48 ต่อไร่ต่อปี นับว่ามีมูลค่ามหาศาลมาก”
นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า “จากการที่พ.ร.บ. ป่าชุมชน ประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2562 กรมป่าไม้มีภารกิจจะต้องผลักดันเป้าหมายป่าชุมชนให้สำเร็จทั้งจำนวนป่าชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชนหรือหมู่บ้าน และจำนวนพื้นที่ป่าชุมชน โดยภายในปี 2566 จะต้องมีป่าชุมชน 15,000 แห่ง หมู่บ้านที่เข้ามามีส่วนร่วมในป่าชุมชน จำนวน 18,000 หมู่บ้าน และพื้นที่ป่าชุมชนรวม 10 ล้านไร่ ปัจจุบันป่าชุมชนตาม พ.ร.บ. ป่าชุมชน มีจำนวน 11,322 แห่ง มีหมู่บ้านที่เข้าร่วมจำนวน 13,016 หมู่บ้าน พื้นที่ป่ารวม 6.29 ล้านไร่ ทั้งนี้ กรมป่าไม้ ได้ใช้ยุทธศาสตร์การรักษาป่าอย่างมีส่วนร่วมมาใช้ในการขับเคลื่อนงานด้านป่าชุมชน ด้วยการประสานความร่วมมือกับภาคประชาชนและภาคเอกชน โดยภาคประชาชนจะเข้ามาช่วยมีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ ขณะที่ภาคเอกชนก็เข้ามาร่วมสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งถือเป็น การช่วยเหลือภารกิจของกรมป่าไม้อีกทางหนึ่งด้วย บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือเป็นแนวร่วมสำคัญที่สนับสนุนการทำงานด้านป่าชุมชนของกรมป่าไม้มาตั้งแต่ปี 2551 ภายใต้ความร่วมมือโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ซึ่งได้ขยายแนวคิดป่าชุมชนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ด้วยความมุ่งมั่นบนเป้าหมายในการรักษาผืนป่าของประเทศของทุกภาคส่วน กรมป่าไม้เชื่อมั่นว่า เป้าหมายพื้นที่ป่าชุมชน 10 ล้านไร่บรรลุผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน”
การจัดประกวดป่าชุมชนตัวอย่างประจำปี 2563 ในโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” เพื่อเฟ้นหาป่าชุมชนที่จะเป็นต้นแบบในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน เป็นวิธีหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน 10 ล้านไร่ ในปีนี้ได้กำหนดแนวคิด “ป่าสร้างน้ำ” เป็นประเด็นหลักของกิจกรรม และเป็นกรอบในการ สรรหาป่าชุมชนที่มีความเข้มแข็งในการดูแลฟื้นฟูป่าจนระบบนิเวศสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตน้ำหล่อเลี้ยงชุมชนไม่ให้ขาดแคลนแม้ในสถานการณ์ที่สังคมส่วนใหญ่ประสบปัญหาภัยแล้ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
สำนักข่าว RATCHATA NEWS