วันพฤหัสบดีที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๓ พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีเนื่องในวันกองทัพอากาศ ประจำปี ๒๕๖๓ ประกอบด้วย พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ, พิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์บุพการีทหารอากาศ อนุสาวรีย์อดีตผู้บังคับบัญชากองทัพอากาศ และอนุสาวรีย์ทหารอากาศ, พิธีฟังสารผู้บัญชาการทหารอากาศ และพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันกองทัพอากาศ
ทั้งนี้ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดพิธีให้สอดคล้องกับมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมพิธี จัดจุดคัดกรองก่อนเข้าพิธี และรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล โดยเฉพาะในพิธีฟังสารผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้มีการถ่ายทอดสดไปยังหน่วยขึ้นตรงกองทัพอากาศ ผ่านระบบ IPTV ที่เว็บไซต์ www.rtaf.live แอปพลิเคชัน RTAF LIVE และเคเบิลทีวีกองทัพอากาศ
โดยสารผู้บัญชาการทหารอากาศ เนื่องในวันกองทัพอากาศ ประจำปี ๒๕๖๓ มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทัพอากาศได้ปฏิบัติภารกิจในการป้องกันประเทศ รักษาอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ ผมขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง เสียสละ และอดทน
ทั้งนี้ กองทัพอากาศมุ่งเน้นพัฒนาในทุกด้านอย่างสมดุล โดยได้พัฒนากำลังทางอากาศให้มีความเข้มแข็งและทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อเป็นกองทัพอากาศที่ปฏิบัติภารกิจได้อย่างชาญฉลาดและมีความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพอากาศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อภารกิจและการดำเนินงานในทุกมิติบนพื้นฐานของความสมดุลและยั่งยืน ซึ่งผลงานและความสำเร็จทั้งหลายมาจากความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องทหารอากาศทุกคน สำหรับในสภาวะของโลกที่เปลี่ยนแปลง ขอให้ทุกคนมีจิตใจที่เข้มแข็งพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถ มีสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง
เพื่อเป็นบุคลากรของกองทัพที่มีความเฉลียวฉลาด รอบรู้ คิดสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นเลิศ การทำหน้าที่ขอให้กระทำด้วยความสำนึกรับผิดชอบ มีอุดมการณ์ เป็นทหารอาชีพที่พร้อมเสียสละเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ตลอดจนพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานอยู่เสมอให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะนำมาสู่การเสริมสร้างกองทัพอากาศและประเทศชาติให้มั่นคงยั่งยืนตลอดไป”
ทั้งนี้ กิจการด้านการบินของไทย เริ่มขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๖ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ เมื่อ นายชาร์ล ว็อง แด็ง บอร์น นักบินชาวเบลเยี่ยม ได้นำเครื่องบินมาทำการบินแสดงให้ชาวไทยได้ชม ณ สนามม้าสระปทุม หลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี กระทรวงกลาโหม ได้คัดเลือกนายทหาร ๓ คน ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส ประกอบด้วย นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ, นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร และ นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต (เก-ตุ-ทัด) ซึ่งภายหลังนายทหารทั้ง ๓ ท่าน ได้รับเกียรติยกย่องให้เป็น “บุพการีทหารอากาศ” บทบาทของกำลังทางอากาศได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและมีการพัฒนาอย่างเป็นลำดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ กับพันธมิตรในยุโรป เมื่อปี ๒๔๖๐ ซึ่งทำให้ชื่อเสียง และเกียรติภูมิของชาติเป็นที่ยอมรับและยกย่องเป็นอันมาก ต่อมาทางราชการได้ยกฐานะกองบินทหารบกขึ้นเป็น “กรมอากาศยานทหารบก” ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาเห็นว่า กำลังทางอากาศมิได้มีความสำคัญเฉพาะทางด้านการทหารเท่านั้น
แต่มีประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อกิจการด้านอื่น ๆ อีกด้วย จึงแก้ไขการเรียกชื่อกรมอากาศยานทหารบก เป็น “กรมอากาศยาน” และเป็น “กรมทหารอากาศ” ในเวลาต่อมา โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยตรง พร้อมทั้งได้มีการกำหนดยศทหาร และการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบจากสีเขียวมาเป็นสีเทาดังเช่นปัจจุบัน ต่อมากระทรวงกลาโหม ได้ยกฐานะ กรมทหารอากาศ ขึ้นเป็น “กองทัพอากาศ” เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๘๐ ภายหลังจึงได้กำหนดให้ วันที่ ๙ เมษายน ของทุกปี เป็น “วันกองทัพอากาศ”
สำนักข่าว RATCHATA NEWS 085-157-7465