งานวิจัยชี้มาตรการที่มิใช่การคุมขังมีประสิทธิภาพกว่าการคุมขังศาลไทยโชว์ยกระดับสิทธิพื้นฐานผู้กระทำผิด นำร่องมาตรการปล่อยชั่วคราว
งานวิจัยเผย “มาตรการที่มิใช่การคุมขัง” ช่วยลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ สร้างพฤติกรรมทางบวกต่อผู้กระทำผิด ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมมากกว่าการคุมขัง ด้านศาลฎีกาไทย โชว์ความก้าวหน้า พัฒนาและยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา และจำเลย ผ่าน “มาตรการควบคุมหลังการปล่อยชั่วคราว” ตั้งเป้าหมายขยายการทดลองมาตรการทั่วประเทศในกันยายนนี้ หลังนำร่องใน10 ศาลจังหวัด
ดร.บาร์บารา โอเวน ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านยุติธรรมอาญา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเสมือนสัญญาณเตือนให้เกิดการปฏิรูป กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคมผ่านการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง โดยมุ่งเน้นกระบวนการฟื้นฟู มากกว่าการลงโทษ อีกทั้งข้อค้นพบในงานวิจัยชี้ชัดว่า มาตรการที่มิใช่การคุมขังก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมมากกว่า ทั้งในแง่ของการลงทุนในชุมชนแทนที่การสร้างเรือนจำซึ่งอยู่ห่างไกล การสร้างบ้านเรือน การจ้างงาน สวัสดิการดูแลเด็ก และการศึกษา ตลอดจนการสร้างความแข็งแกร่งภายในชุมชนผ่านการรักษาบำบัด
หลักสำคัญในการปรับใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง คือ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ของสังคม คนในสังคมและชุมชน ซึ่งเป็นตัวแปรในการช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจแบบองค์รวม และการบริหารจัดการ ให้การสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน ตลอดจนการเยียวยาความบอบช้ำทางจิตใจอันเกิดขึ้นจากความรุนแรง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเป็นการ สร้างความรู้สึกปลอดภัย และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
“มาตรการที่มิใช่การคุมขังเป็นมาตรการหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นการเสริมสร้าง ความแข็งแกร่งของสิทธิมนุษยชน อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่มนุษย์พึงมี ขณะเดียวกัน ข้อกำหนดกรุงเทพ ที่มีการผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอีกแนวนโยบายหนึ่งที่ช่วย ยืนยันหลักสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังเช่นกัน” ดร.บาร์บารา กล่าว
ศาลฎีกาโชว์ความก้าวหน้า-ยกระดับสิทธิผู้กระทำผิด
ดร.บาร์บารา โอเวน ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านยุติธรรมอาญา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท สำหรับประเทศไทยเอง ได้มีการพัฒนาและยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา และจำเลยโดยคำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคม โดยมีการกำหนดมาตรการในการขอปล่อยตัวชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสะดวกรวดเร็ว และการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว นอกจากนี้ ยังได้กำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้ต้องหา จำเลย เหยื่ออาชญากรรมผู้เสียหาย ตลอดจนกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม ในทุกขั้นตอนของกระบวนการศาล ที่สำคัญ ยังได้เพิ่มบทบาทเชิงรุกในการ ให้ข้อมูลแก่ประชาชนในเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีในศาล และให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสิทธิของตนตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ศาลฎีกาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยดำเนินการวางเป้าหมายหลักเกี่ยวกับการปล่อยผู้ต้องหา และจำเลยชั่วคราว ลดการเรียกหลักประกัน เพิ่มความปลอดภัยให้สังคม และลดการคุมขังโดยไม่จำเป็นในทุกขั้นตอนด้วยมาตรการควบคุมหลังการปล่อยชั่วคราวในหลายรูปแบบ เช่น ให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมารายงานตัวต่อศาลตามกำหนด
ตั้งผู้กำกับดูแลให้ทำหน้าที่รับรายงานตัวแทนศาล หรือติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (EM) พร้อมกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือการเดินทาง การพิจารณาดังกล่าวจะเป็นไปตามหลักการประเมินความเสี่ยง (Risk assessment)
นอกจากนี้ คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ยังได้จัดให้มีศาลต้นแบบในการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย รวม 10 ศาล
ได้แก่ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดนครนายก ศาลจังหวัดนครราชสีมา ศาลจังหวัดมหาสารคาม ศาลจังหวัด
ลำพูน ศาลจังหวัดกำแพงเพชร ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ศาลจังหวัดภูเก็ต และศาลจังหวัดนาทวี ซึ่งผลการดำเนินงานในเฟสแรก ปรากฏว่า มีผู้ต้องหายื่นคำร้องใบเดียว-เพื่อขอปล่อยชั่วคราวทั้งสิ้น 488 คำร้อง อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีประกัน 365 คำร้อง คิดเป็นสัดส่วน 72.95 โดย 11% เป็นส่วนของผู้ต้องหาหญิง
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ต้องหาที่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวส่วนใหญ่เป็นการขอครั้งแรก เนื่องจากไม่มีหลักประกัน และไม่ทราบถึงกฎระเบียบที่สามารถขอปล่อยชั่วคราวโดยไม่เสนอหลักประกันได้
“จากการดำเนินการดังกล่าว ถือเป็นอีกความก้าวหน้าในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย โดยศาลฎีกาตั้งเป้าหมายในการขยายผลให้ครอบคลุม 269 ศาลยุติธรรม ทั่วประเทศภายในเดือนกันยายนนี้” ดร.สุธาทิพ กล่าว
#สำนักข่าว RATCHATA NEWS 085-157-7465