วันที่ 4 ส.ค. 64 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมโรงแรมเดอะศิตา ปริ้นเซส อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาเครือข่ายประชาสัมพันธ์ รู้เท่าทันสื่อยุคดิจิทัล” ตามโครงการประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และนโยบายจังหวัดบุรีรัมย์ ประจำปีงบประมาณ 2564
โดยมีเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของส่วนราชการ นักจัดรายการวิทยุ สื่อโซเชียลมีเดีย สื่อหนังสือพิมพ์ อป.มช. และเครือข่ายประชาสัมพันธ์ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีนายธีระพงษ์ โสดาศรี อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และนายสุพิชัย หล่าสกุล ประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษ เป็นวิทยากรบรรยาย ให้ความรู้ และฝึกปฏิบัติการผลิตสื่อออนไลน์
นางมยุรี สงวนนาม ประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์ รายงานว่า จากสถานการณ์การระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ ล่าสุด จังหวัดได้มีโครงการอุ้มลูกหลานเซราะกราวกลับบ้าน เพื่อนำผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กลับมารักษาที่บุรีรัมย์ และจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามและจุดพักคอยเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่หลายภาคส่วนกำลังระดมกำลังต่อสู้กับโรคระบาดนั้น ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นเท็จ ข่าวปลอม ผ่านทางสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก แม้จะมีการป้องปราม กำกับดูแล ลงโทษจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ดังนั้นสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์ จึงได้จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาเครือข่ายประชาสัมพันธ์ รู้เท่าทันสื่อยุคดิจิทัล” เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันสื่อ และพัฒนาทักษะ เทคนิควิธีการผลิตและเผยแพร่สื่อออนไลน์ สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชน และงานด้านการประชาสัมพันธ์ของส่วนราชการ ให้สามารถนำไปปรับใช้ในการให้ข่าว หรือนำเสนอข่าวการจัดกิจกรรมของหน่วยงาน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ลดปัญหาข่าวปลอม และความสับสน ที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนได้
ด้าน นาย ธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ประธานในพิธีกล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีข่าวสารที่เป็นเท็จ ข่าวปลอม ออกมาเผยแพร่ผ่านทางสื่อออนไลน์ เป็นจำนวนมาก การตอบโต้สถานการณ์ข่าว และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง รวดเร็ว ให้กับประชาชน จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ
การที่ประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์ ได้จัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการสื่อสารในภาวะวิกฤติ กรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเทคนิค การผลิตสื่อออนไลน์ ครั้งนี้ จึงถือเป็นกิจกรรมที่ดี และยิ่งไปกว่านั้น ยังก่อให้การเกิดความร่วมมือ จากทุกภาคส่วนในการร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน และกิจกรรมของจังหวัดให้สำเร็จลุล่วง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
หวังว่า ผู้ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน และ สื่อมวลชนจะได้นำข้อมูล ความรู้เหล่านี้ไปผลิตสื่อที่มีคุณภาพ และขยายผลให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นจริงต่อไป