น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นั้นว่าคดีจีทูจียุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ ระบายข้าวจีทูจีล็อต 2 มีการตั้งไต่สวนเพิ่มเติมอย่างน้อย 2-3 ราย และมีการกันพยานบุคคลอยู่ โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้วทั้งหมด โดยบุคคลที่ถูกไต่สวนเพิ่มเติม 2-3 รายนั้น ส่วนใหญ่เป็นอดีตนักการเมืองที่อยู่ต่างประเทศ และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ถูกกล่าวหา
ส่วนกรณีชี้มูลความผิดนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กับพวก คดีปรับปรุงข้าวส่งออกไปยังอินโดนีเซีย เอื้อประบริษัท สยามอินดิก้า หรือคดีข้าวบูล็อคนั้นว่า คดีดังกล่าวมีการชี้มูลนายกิตติรัตน์กับพวก เนื่องจากตามทางไต่สวนมีการทักท้วงจากผู้ส่งออกข้าว 2-3 รายถึงวิธีการในการเปิดประมูลการปรับปรุงข้าวส่งออกไปยังอินโดนีเซียดังกล่าวว่าอาจทำโดยมิชอบ
เบื้องต้นได้ส่งสำนวนให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แล้ว ปัจจุบัน อสส.กำลังพิจารณาอยู่คดีจีทูจียุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีอยู่ 3 คดี ได้แก่ คดีระบายมันสำปะหลังจีทูจี ระบายข้าวจีทูจี และการประมูลข้าวเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงปัจจุบันยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยสาเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากมีพยานเอกสารบางชิ้นไม่เหมือนกับตัวต้นฉบับ โดยเอกสารที่ส่งมายัง ป.ป.ช.ไม่ปรากฏลายเซ็นของบุคคลใดเลย จึงดำเนินการขอเอกสารตัวจริงอยู่ และรอเสนอเข้าที่ประชุมองค์คณะไต่สวนว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาใครบ้างและคดีนี้ยังไม่หมดอายุความ เนื่องจากมีอายุความ 20 ปี
ส่วนความคืบหน้าในการไต่สวนคดีสินบนข้ามชาติต่างๆ นั้น น.ส.สุภา กล่าวว่า ยังอยู่ระหว่างขอความร่วมมือ และติดต่อข้อมูลจากต่างประเทศ เช่น คดีสินบนภาษีสุราดิอาร์จิโอ
ข้อเท็จจริงในไทยครบถ้วนหมดแล้ว ขาดอย่างเดียวคือเส้นทางการเงินที่พบว่า มีการไปจ่ายกันที่ฮ่องกง และบางส่วนไปอยู่ที่สิงคโปร์ด้วย โดยต่างประเทศยังไม่ได้ให้ข้อมูลส่วนนี้มา
สำหรับคดีสินบนโรลส์รอยซ์ ในส่วนของ บมจ.การบินไทย (THAI) ดำเนินการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว แต่เนื่องจากผู้ที่กำลังจะถูกชี้มูลขอเข้าชี้แจงกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ
ด้านพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า การไต่สวนเรื่องที่รับไว้ก่อนปี 2561 ได้ดำเนินการไต่สวนทั้งหมด แต่ยังมีเรื่องที่ยังไม่สู่การวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.น่าจะเหลือประมาณ 600 เรื่อง แบ่งเป็นไต่สวนเสร็จแล้วส่งสำนวนมารอการพิจารณาคณะกรรมการ ป.ป.ช.กว่า 200 เรื่อง อีก 400 เรื่องอยู่ระหว่างการไต่สวน และได้มอบสำนักงาน ป.ป.ช.ตรวจสอบรายละเอียดแต่ละเรื่องถึงลำดับความเป็นมา การดำเนินงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบว่าดำเนินการไปอย่างไร ครบถ้วนหรือไม่ มีปัญหาและอุปสรรคตรงไหน เป็นต้น
ส่วนความคืบหน้ากรณีการไต่สวนการปล่อยปละละเลยไม่ฟ้องคดีกล่าวหานายวรยุทธ อยู่วิทยา (บอส) ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 55 นั้น ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่าดำเนินการตั้งคณะกรรมการไต่สวนแล้ว มีผู้ถูกกล่าวหา 15 ราย และมีการพิจารณาโดยองค์คณะไต่สวน กำหนดระยะเวลาว่า ทำอะไรได้บ้าง และมีการเสนอแผนการไต่สวนทั้งหมดต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี 4 เดือน เพราะต้องรอข้อมูลที่ขอจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสอบปากคำอีกหลายปาก ยังมีประเด็นที่ก้าวไปได้อยู่ เพราะว่าเกี่ยวข้องกับบุคคล ในส่วนที่ยังขาดพยานหลักฐาน จะเร่งรัดดำเนินการ ส่วนผลการดำเนินการคงไม่สามารถพูดได้ว่าใคร ผู้สื่อข่าวคงรู้ แต่เรื่องนี้มาจากผลการสอบสวนของนายวิชา มหาคุณ (อดีตกรรมการ ป.ป.ช.) และต้องขอข้อมูลจาก อสส. รวมถึงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในส่วนการกระทำที่เกี่ยวข้องกับวินัย
ส่วนกรณีคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคมฯ วินิจฉัยว่าบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายวิษณุ เครืองามกรณีดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 เมื่อปี 62 ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะนั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เบื้องต้นมีการปรึกษากับคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ช. รวมถึงที่ปรึกษาทางกฎหมายต่างๆ และศึกษาตามรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นว่า มีการระบุถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ ไม่ใช่จะเปิดเผยได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ความสำคัญมากอภิปรายเรื่องนี้กันเยอะ โดยการวินิจฉัย พ.ร.บ.ป.ป.ช. กับการวินิจฉัยของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ อาจไม่ตรงกัน แต่ของ ป.ป.ช.การบอกให้ยื่นเป็นหลักฐานเท่านั้น
#RATCHATANEWS #คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ