วันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงหลังฝ่ายค้านอภิปรายกรณีที่มีความกังวลในการฉีดวัคซีนไขว้
โดย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรณีที่มีการอภิปรายว่าการไขว้วัคซีน คือ เข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตราเซเนกา งานวิจัยยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่กำลังส่งตีพิมพ์ ฉะนั้นการบริหารในสถานการณ์เช่นนี้ หากจะรอให้มีการตีพิมพ์งานวิจัยก่อนแล้วถึงนำมาบริหารจัดการถือว่าโง่มาก หากถามว่าทำไมเราถึงยังต้องซื้อวัคซีนซิโนแวค ก็สามารถตอบกลับได้ง่ายๆ ว่า ผลวิจัยบอกว่าการสู้กับเดลต้าในปัจจุบันนั้น การใช้ซิโนแวค 1 เข็มบวกแอสตราเซเนกา 1 เข็มให้ผลพอๆ กับการฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม ซึ่งหากจะรอแค่แอสตราเซเนกาอย่างเดียว ต่อให้ได้มาเดือนละ 10 ล้านโดสก็สามารถฉีดได้เพียงแค่เดือนละ 5 ล้านคน แต่หากฉีดแบบสูตรไขว้จะสามารถฉีดคนได้มากกว่าเดิมสองเท่านี่เป็นตรรกะพื้นฐานง่ายๆ หากคิดไม่ออกตนก็ไม่รู้ว่าจะบริหารบ้านเมืองไปได้อย่างไรจึงมีความจำเป็นที่ต้องซื้อวัคซีนซิโนแวคมาเพิ่ม
“ยืนยันว่าการฉีดไขว้มีความปลอดภัยและอย่าพูดให้ประชาชนเกิดความสับสน ทั้งนี้ในการตัดสินใจของกระทรวงสาธารณสุขในยุคที่มีวิกฤตต้องเร็ว หากจะลีลาและต้องรอเอกสารอาจจะทำให้ชีวิตประชาชนเสียหายมากกว่า” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับสายพันธุ์เดลต้าเป็นเชื้ออุบัติใหม่ที่รู้จักเพียง 3-4 เดือน ความรู้ใหม่ๆ จึงเปลี่ยนไปตลอดเวลา การบริหารจัดการสถานการณ์ก็ต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน และยืนยันว่าเมื่อเจอสายพันธุ์เดลต้าทุกวัคซีนประสิทธิภาพลดลงหมดแต่ก็ยังมีประโยชน์ในการลดการป่วยหนักและเสียชีวิต แต่เราก็อยากทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพจึงเป็นที่มาของการฉีดไขว้ ซึ่งการค้นพบของแพทย์ไทยพบว่าภูมิคุ้มกันสูงกว่าปกติที่ใช้กัน และทำให้เราฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น
ส่วนข้อกังวลว่าจะปลอดภัยหรือไม่ยืนยันว่าวัคซีนที่ใช้ 4-5 ยี่ห้อในประเทศไทยได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก(WHO) และ อย. ซึ่งตอนนี้ฉีดไปแล้ว 32 ล้านโดส ยังไม่มีการเสียชีวิตแม้แต่รายเดียวขณะที่การฉีดสูตรไขว้ที่ต่อไปเราจะใช้เป็นสูตรหลัก คือ เข็มแรกซิโนแวค เข็มสองแอสตราเซเนกาฉีดไปแล้วมากกว่า 1.5 ล้านคน ยืนยันว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเช่นกันขอให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ และกลไกการพัฒนาสูตรวัคซีนกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้คิดโดยลำพัง มีคณะกรรมการ มีผู้เชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านโรคติดเชื้อ ด้านวัคซีน และด้านระบาดวิทยา มาประชุมและสรุปเพื่อจะปรับให้ประชาชน และอ้างอิงทางหลักฐานวิชาการ ข้อมูลที่เรามีและข้อมูลทั่วโลกด้วยความรอบคอบและรอบด้านเป็นขั้นตอน จนมีมติให้นำสูตรนี้มาใช้กับประชาชน
ขณะที่ นพ.มานัส กล่าวว่า เรื่องการจ่ายยาและการรักษาในระลอก 3 อาจจะพบผู้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมากขึ้น โดยแนวทางรักษาเราจะให้ความสำคัญเรื่ององค์ความรู้ ยาใช้รักษา และเพิ่มการเข้าถึง มีการปรับการรักษาให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น เช่นกลุ่มไม่มีอาการก็ให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจร รวมถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงก็จะหรับปรุงให้เข้าถึงยาได้มากขึ้น ส่วนเรื่องเตียงที่ไม่พอก็มีการนำเสนอเรื่องการแยกกักตัวที่บ้านและที่ชุมนุมรวมทั้งศูนย์พักคอยในกทม. และได้รับความร่วมมือของทุกหน่วยงานและภาคประชาสังคมที่มาช่วยดูแล สำหรับผู้ที่มีอาการก็จะได้รับยาตั้งแต่ได้ทราบผลการตรวจ ATK และจะได้รับอุปกรณ์ติดตามอาการ อาหาร 3 มื้อ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยออกไปนอกบ้าน ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วขึ้น รวมทั้งในช่วงนี้ได้สำรองยาไปที่โรงพยาบาลต่างๆ และพื้นที่ต่างๆ ที่รับผิดชอบผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้านและที่ชุมนุม ทำให้จ่ายยาได้เร็วขึ้น และทางกรมการแพทย์จะมีการติดตามสถานการ์และปรับปรุงวิธีการรักษาให้สอคคล้องกับสถานการ์ต่อไป
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เรายืนยันว่ามีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่มีอาการ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง และไม่ให้เป็นภาระที่ผู้ป่วยต้องไปอยู่ในโรงพยาบาล และอยากยืนยันกับประชาชนว่ากระทรวงสาธารณสุขทำการต่อสู้โควิดในครั้งนี้ ด้วยการทำงานด้วยการบูรณาการทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการในหลายๆ รูปแบบ เพื่อป้องกันโรค การรักษา และการฉีดวัคซีนอย่างครบวงจร
#RATCHATANEWS #กระทรวงสาธารณสุข #กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ #กรมควบคุมโรค #กรมการแพทย์