3 ก.ย. 2564 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิ (ส.ว.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ปฏิรูปตำรวจสายมากแล้ว แต่ยังไม่สายเกินไป ! ถ้าจริงใจ-ทำได้ทันที 3 ประการ
ผมเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะฝ่าวิกฤติ ‘การเมืองเก่า’ ภายใน พปชร. ครั้งนี้ไปได้ โค่นเกมโหวตคว่ำ 4 กันยายนนี้ได้แน่นอน
แต่ – แล้วยังไง ? ก็แค่ซื้อเวลาไปได้ระยะหนึ่งหรือเปล่า ?
เวลาที่เหลืออยู่ก่อนเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ไม่ว่าจะเพราะเหตุครบวาระ หรือยุบสภา มีไม่มากก็จริง แต่ก็ไม่น้อย สามารถสร้างผลงานใหญ่ให้ระบือลือลั่นได้ ทำให้เวลาที่เหลืออยู่ทรงคุณค่าต่อชาติต่อประชาชนและต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เรียกว่าการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นภารกิจที่ท่านอาสาเข้ามาสานต่อให้ลุล่วงโดยการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังเลือกตั้งต้นปี 2562
ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่เรื่องปฏิรูปตำรวจ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ความสำคัญไว้สูงสุดเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนและเป็นธรรม
สังคมคาดหวังเรื่องการปฏิรูปตำรวจมานานมากแล้ว ทุกครั้งที่มีปัญหาฉาวโฉ่ในวงการตำรวจ จะมีเสียงทวงถามตามมาทุกครั้ง จนกลายเป็นความเชื่อในหมู่ประชาชนทั่วไปว่าการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจนั้นเต็มไปด้วยด้านลบของระบบอุปถัมภ์
แม้สายมากแล้ว แต่ยังไม่สายเกินไป
รัฐบาลทำได้ทันทีตามนี้
หนึ่ง – ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโสฉบับใหม่ แทนที่ฉบับเดิมที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 31 กรกฎาคม 2561 เพื่อให้ตรงตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 260 วรรคสาม ประกอบมาตรา 258 ง (4) กล่าวคือเพื่อให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจก่อนที่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่จะแล้วเสร็จใช้หลักอาวุโสอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ระบบแบ่งกองใช้อาวุโส 33 % ของตำแหน่งที่ว่างตามที่ประกาศมา
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 260 วรรคสามนี้ควรจะเป็นหลักเกณฑ์ว่าด้วยอาวุโสเท่านั้น ไม่ใช่หลักเกณฑ์ทั้งหมดของการแต่งตั้งโยกย้ายดังที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ทำเสียให้ถูกต้องตรงตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนหลักเกณฑ์ทั้งหมดของการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่กำหนดให้ใช้หลักอาวุโสกับความสามารถประกอบกันตามมาตรา 258 ง (4) นั้นให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ ที่กำลังต่อสู้ทางความคิดกันอยู่ในชั้นกรรมาธิการของรัฐสภาที่จะต้องแล้วเสร็จโดยเร็ว
รัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคสามเป็นนวัตกรรมที่ผมเคยเรียกว่า ‘บทเร่งรัดกึ่งลงโทษ’ เพื่อมุ่ง ‘เร่งรัด’ ให้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการโดยย้ายแต่งตั้งโดยให้ใช้อาวุโสกับความสามารถประกอบกันแล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 1 ปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ถ้าไม่เสร็จก็จะถูก ‘ลงโทษ’ โดยให้การแต่งตั้งโยกย้ายใช้หลักอาวุโสอย่างเดียว อันจะเป็นข้อจำกัดในการบริหารจัดการ จึงต้องเร่งรัดคลอดหลักเกณฑ์ใหม่ให้ได้โดยเร็วที่สุด ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี 31 กรกฎาคม 2561 จึงเป็นการทำลายรัฐธรรมนูญมาตรานี้โดยตรง ส่งผลให้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่จะล่าช้าอย่างไรก็ได้หรือไม่แล้วเสร็จเลยก็ได้ เพราะมีหลักเกณฑ์ทั้งหมดของการแต่งตั้งโดยย้ายข้าราชการตำรวจระบุไว้หมดแล้วในประกาศ แถมยังเป็นหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้กันอยู่
สอง – คณะรัฐมนตรีตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 20/2561 เมื่อ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่เป็นการรับรองความถูกต้องสมบูรณ์ของประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส 31 กรกฎาคม 2561
คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ไม่น่ารักมากถึงมากที่สุด
เพราะมีผลเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคสองที่กำหนดให้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติที่กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายใหม่ต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปีมีอันต้องไร้ผล และยังเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยวิธีพิเศษที่ไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ยังผลให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในระบบแบ่งกองใช้อาวุโส 33 % ของตำแหน่งที่ว่างที่ใช้กันมาแต่เดิมได้ใช้ต่อไปเรื่อยๆ ไร้กำหนดสิ้นสุดที่ชัดเจน กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่จะเสร็จเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องเร่งรัด พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ที่ทำต่อเนื่องกันมา 4 ปีจะเสร็จหรือไม่ก็ไร้ปัญหา เพราะบทเร่งรัดกึ่งลงโทษตามรัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคสามไม่เหลืออีกแล้วในทางปฏิบัติ และยังเป็นการตัดสิทธิผู้เห็นต่างให้ไม่สามารถร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยด้วย ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือเป็นการใช้อำนาจพิเศษของคณะรัฐประหารหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งแม้รัฐธรรมนูญจะอนุญาตให้ทำได้ แต่ก็มีข้อพิจารณาในเชิงรัฐศาสตร์มากทีเดียว
ผมไม่ได้ขอสุดโต่งถึงขนาดยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 20/2561 ไปเลย เพราะคณะรัฐมนตรีรวมทั้งผู้ปฏิบัติจะหลุดจากความคุ้มครองทั้งหมด ขอเพียงให้แก้ไขเพิ่มเติม ให้คุ้มครองคณะรัฐมนตรีและผู้ปฏิบัติเฉพาะเท่าที่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส 31 กรกฎาคม 2561 ยังมีผลบังคับใช้อยู่เท่านั้น
สาม – คณะรัฐมนตรีตราพระราชกำหนดยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคสช./คำสั่งคสช. 5 ฉบับที่เกี่ยวกับตำรวจ กล่าวคือ
ประกาศคสช.ที่ 88/2557
ประกาศคสช.ที่ 111/2557
ประกาศคสช.ที่ 115/2557
คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 7/2559
คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 21/2559
อำนาจพิเศษของคณะรัฐประหารที่ใช้ไปก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้ง 5 ครั้งนี้ 4 ครั้งเป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 อีก 1 ครั้งเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทุกครั้งมีเนื้อหาที่กล่าวโดยภาพรวมได้ว่าสวนทางกับทิศทางการปฏิรูป เพราะเป็นการลดการตรวจสอบถ่วงดุล ลดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขยายอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ผมจะไม่เสนอละเอียดลงไปว่าควรยกเลิกหรือแก้ไขอย่างไร และจะไม่กล่าวว่าเป็นความไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด เพราะบางประการอาจจะมีความจำเป็นเฉพาะช่วงเวลาเพื่อความมั่นคงหลังรัฐประหาร แต่ไม่ใช่คงไว้ตลอดไปเฉพาะบางเรื่องไม่อาจรอพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติให้แล้วเสร็จได้ เพราะถึงรอก็ไร้ผล เนื่องจากอยู่ในกฎหมายคนละฉบับ นั่นคือการทำให้อำนาจถ่วงดุลการสั่งคดีในต่างจังหวัดทั่วประเทศไร้ผล ในประกาศคสช.ที่ 115/2557 ที่สมควรแก้ไข
3 ประการนี้ทำได้ทันที – ถ้าจะทำ !
ข้อ 1 นั้นทำได้แน่นอนเพราะเป็นการใช้อำนาจบริหารของคณะรัฐมนตรีตามปกติ และยังมีรัฐธรรมนูญมาตรา 260 รองรับ ส่วนข้อ 2, 3 ก็พิจารณาได้ว่าเข้าเงื่อนไขของการตราพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 เพราะเป็นทั้งความปลอดภัยของประเทศและความปลอดภัยสาธารณะที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และหากดำเนินการในช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภาก็จะยิ่งเข้าเงื่อนไขเต็มที่มากขึ้น
นี่คือตัวอย่างของการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุโดยใช้ ‘การเมืองใหม่’ ที่จะทำให้การคงอยู่ของท่านนายกรัฐมนตรีต่อไปมีคุณค่าและเต็มไปด้วยความหมาย
ถ้าทำได้ชัดเจนพอ จับต้องได้ ศรัทธาของประชาชนที่อาจจะได้เพิ่มขึ้นมาจากปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญก็จะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กเป็นหลังพิงให้นายกรัฐมนตรียืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพา ‘การเมืองเก่า’ มากเกินไป
จึงเสนอมาเพื่อพิจารณา
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
3 กันยายน 2564
#RATCHATANEWS