วันที่ 18 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้าราชการ และพนักงานกรมป่าไม้ ได้ร่วมกันทำพิธีถวายเครื่องราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 และวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์วีรชนป่าไม้ เพื่อรำลึกถึงคุณความดีของบรรพชนและวีรชนป่าไม้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 125 ปี วันสถาปนากรมป่าไม้ และพิธีมอบโล่รางวัล เกียรติบัตรหนังสือชมเชยแก่ผู้ช่วยเหลือราชการกรมป่าไม้ และรางวัลอื่น ๆ
ในโอกาสนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ ที่ผ่านการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจได้มีการปรับรูปแบบการทำงานโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบเน้นสร้างความเข้าใจให้ประชาชนควบคู่กับการสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการร่วมกันป้องกันรักษาป่า ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนเกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพโดยในช่วงปีงบประมาณ 2564 (มิ.ย. 63 – มิ.ย. 64)
ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการร่วมพญาเสือ พยัคฆ์ไพร เหยี่ยวดง ฉลามขาว หน่วยบินพิทักษ์ป่า (Sky Ranger) และหน่วยงานใน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถทวงคืนพื้นที่ป่าได้กว่า 80,000 ไร่ มีการดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่ป่า ได้ทั้งสิ้น 1,734 คดี ผู้ต้องหา 339 ราย รวมเนื้อที่บุกรุก 16,859 ไร่ คดีที่ศาลพิพากษาสิ้นสุดแล้วในรอบปี 64 จำนวน 720 คดี สามารถยึดคืนพื้นที่ป่ากลับมาเป็นของรัฐได้ทั้งสิ้น 80,479 ไร่ ตรวจยึดไม้ของกลางจากการลักลอบตัดไม้ 1,313 คดี ผู้ต้องหา 747 ราย จำนวนไม้ของกลาง 22,881 ท่อน ปริมาตร 5,997 ลบ.ม. และ ไม้แปรรูป จำนวน 46,818 แผ่น ปริมาตร 764 ลบ.ม.
นอกจากภารกิจด้านการป้องกัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งดำเนินการจัดที่ดินให้กับชุมชนได้ทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ตามแนวทาง คทช. ซึ่งภายในสิ้นเดือนกันยานี้จะเร่งผลักดันการอนุญาตในพื้นที่ คทช. ให้ได้ประมาณ 3.9 ล้านไร่ ซึ่งตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 4 แสนไร่พร้อมจะเร่งดำเนินการให้ประชาชนได้มีที่ดินทำกินถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากโครงการของรัฐต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง
นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเสริมถึงแนวทางการดำเนินงานของกรมป่าไม้ ที่จะเร่งผลักดันขับเคลื่อนในภารกิจ 5 เรื่องสำคัญ คือ 1) การรักษาป่าเดิม 2) การเพิ่มพื้นที่ป่าใหม่ 3) คนอยู่กับป่า 4) ส่งเสริมไม้มีค่า 5) พัฒนาป่าชุมชน ซึ่งมีการเริ่มดำเนินการและทำอย่างต่อเนื่อง
โดยในขณะนี้กรมป่าไม้ดำเนินการในเรื่องของป่านันทนาการ ซึ่งมีการแก้กฎหมายในมาตรา 19 เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งพื้นที่ป่าสงวน ฯ บางพื้นที่มีศักยภาพสามารถนำเอามาใช้ให้ประชาชนสามารถเข้ามาประโยชน์ ซึ่งเป็นหนทางในการดึงให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกรมป่าไม้ อีกทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง และอีกหนึ่งภารกิจที่กรมป่าไม้เร่งส่งเสริมคือการปลูกไม้เศรษฐกิจ จาการที่ได้ปลดล๊อคมาตรา 7 พ.ร.บ.ป่าไม้ ให้ไม้ที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ของชาวบ้านไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป สามารถปลูกและเมื่อโตก็สามารถตัดนำไปใช้ประโยชน์ได้จะนำพาเคลื่อนที่ไปไหนได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีความคล่องตัว สะดวกมากขึ้นและไม่มีข้อจำกัดในข้อกฎหมาย นอกจากนี้การปลดล๊อคมาตรา 7 ทำให้กรมป่าไม้เร่งเพาะกล้าไม้โดยเฉพาะไม้มีค่าทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ ไม้สัก ไม้พะยูง ยางนา ไม้มะฮอกกานี เป็นต้น
สำหรับแจกจ่ายให้กับชาวบ้านได้นำไปปลูก เพื่อจะเป็นแหล่งเงินทุนสำรองในอนาคตใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ยืมเงินได้ ซึ่งที่ผ่านมา กรมป่าไม้มีการบริหารจัดการ และการบริการประชาชนแบบเปิด โดยมีการสื่อสารการรับฟังปัญหาและความคิดเห็นจากภาคประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เกี่ยวกับการให้บริการในด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาขอรับบริการหรือติดต่องานกับกรมป่าไม้ได้มากขึ้น เช่น การติดต่อขอรับกล้าไม้ หรือการขออนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานด้านป่าไม้ ร่วมไปถึงการป้องกันดูแลรักษาป่า โดยกรมป่าไม้จะยังคงพัฒนาการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารงานและการบริการประชาชนดำเนินต่อไปในสถานการณ์ปัจจุบัน
และเนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมป่าไม้ ครบรอบ 125 ปี ในปีนี้ กรมป่าไม้ จะได้มีพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์ ป่าไม้ ปลูกป่าในใจคน” โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ที่ได้รวบรมจัดแสดงเกี่ยวกับงานด้านไม้ ที่มีการบอกเล่าเรื่องราวการป่าไม้ในประเทศไทย ลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับการทำไม้ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงความรู้ด้านการป่าไม้เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้และเข้าใจถึงภารกิจสำคัญในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ และความเป็นมาของกรมป่าไม้ ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการที่แบ่งออกเป็น 5 ส่วน
ส่วนที่ 1 “การทำไม้ในประเทศไทย” แสดงจุดเริ่มต้นของการป่าไม้ไทย การก่อกำเนิดกรมป่าไม้และเรื่องราวภารกิจที่ผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ส่วนที่ 2 “ภารกิจในผืนป่า” สร้างความตระหนัก และการเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของภารกิจผ่านเหตุการณ์ที่ส่งผลถึงการดำเนินกิจการป่าไม้ในแต่ละยุคสมัย
ส่วนที่ 3 “ผู้พิทักษ์แห่งพงไพร” นำเสนอผลงานสำคัญของนักสู้แห่งพงไพรที่มีคุณูปการในวงการป่าไม้ และมีบทบาทที่ประทับใจในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้
ส่วนที่ 4 “ Hall of Fame” จะเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับเกียรติประวัติป่าไม้ ตลอดจนความซาบซึ้งในคุณูปการของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ต่อกิจการป่าไม้ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระลึกถึงเกียรติคุณและผลงานของอธิบดีกรมป่าไม้
ส่วนที่ 5 “พันธกิจกรมป่าไม้” รัฐมีป่า ประชามีสุข เรียนรู้เรื่องราวไม้ในประเทศไทย และพันธกิจของกรมป่าไม้ในการดูแลทรัพยากรปาไม้ให้คนไทยทั้งประเทศ
กรมป่าไม้ ขอเชิญชวนนักเรียน และประชาชนทั่วไปสามารถเดินทางมาเยี่ยมชน “พิพิธภัณฑ์ป่าไม้ ปลูกป่าในใจคน ” ในวันและเวลาราชการ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ
#RATCHATANEWS #พิพิธภัณฑ์ป่าไม้ปลูกป่าในใจคน