ศาลแพ่งมีคำสั่งยกคำร้อง”ยิ่งชีพ อัชฌานนท์”กับพวกรวม ๓ คน ยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ศาลแพ่งมีคำสั่งให้รับคำฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ พ๔๖๓๙/๒๕๖๔ ที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กับพวกรวม 3 คน ยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) กับพวกรวม 6 คน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ฉบับที่ 3 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4, ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 11 และให้ไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้น และขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสาม พร้อมรับคำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินโดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวและห้ามมิให้นำมาตรการ คำสั่ง หรือการกระทำใดๆที่สั่งการตามประกาศดังกล่าวมาใช้กับโจทก์ทั้งสามและประชาชนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 8 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 นาฬิกา นั้น
บัดนี้ ศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ พ๔๖๓๙/๒๕๖๔ ได้ออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานแล้วมีคำสั่งอันสรุปใจความได้ว่า “จำเลยที่ 1 ออกข้อกำหนดดังกล่าวห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยเพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยปัจจุบันยังพบการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวของบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ภายในประเทศ อีกทั้งสถานการณ์ยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จำเลยที่ 2 จึงออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบดังกล่าวมาบังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุขในการเว้นระยะห่าง และการป้องกันการสัมผัสของบุคคลอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวในลักษณะกลุ่มก้อน (Cluster) ภายในประเทศกระจายไปในวงกว้างและสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวยังพบว่ามียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต แม้โจทก์ทั้งสามจะอ้างว่าไม่มีหลักฐานใดชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวมาจากการชุมนุมสาธารณะ แต่การรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมของบุคคลจำนวนมากย่อมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวได้ง่าย เจือสมกับที่โจทก์ที่ 2 เบิกความว่ารู้สึกกลัวการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าว จึงต้องใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือและหน้ากากอนามัยในการมาชุมนุม ยิ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุขในการเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวในลักษณะกลุ่มก้อน (Cluster) ภายในประเทศกระจายไปในวงกว้าง
กรณีตามคำร้องของโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอและยังไม่มีความจำเป็นเพื่อคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสาม”
#Ratchatanews.com
#NewsandTalk
#ChiangMaiTalkNewspaper
#ประยุทธ์จันทร์โอชา
#ยิ่งชีพอัชฌานนท์