นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยปกติหากมีการขายแล้วมีกำไร ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ฌ) ซึ่งผู้จ่ายเงินได้ (ผู้ซื้อ) มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15%
นอกจากนี้ ตามข้อกฎหมาย ผู้ขายสินทรัพย์ดิจิทัล หากมีกำไร มีหน้าที่ต้องนำกำไรจากการขายไปคำนวณรวมกับเงินได้อื่น ในการยื่นเสียภาษีประจำปี ตามปีที่ได้รับกำไร
เนื่องจาก กฎหมายไม่ได้ให้เลือกว่า จะนำมาคำนวณรวมหรือไม่ต้องนำมาคำนวณรวม เช่นเดียวกับการที่ถูกหักภาษีณที่จ่าย แบบดอกเบี้ยหรือเงินปันผลที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% และ 10% แล้วได้สิทธิ์ให้เลือกว่าจะรวมหรือไม่รวมกับเงินได้ตอนยื่นประจำปีได้
ในกลุ่มนักลงทุนคริปโตเคอเรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ได้เกิดประเด็นถกกันเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรที่ขายคริปโตฯ ตามประกาศพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งสาระสำคัญระบุว่า
1. กรณีมีการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล โดยนักลงทุนผู้ถือหรือผู้ครอบครอง มีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกัน เงินได้ดังกล่าวจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% จากผลประโยชน์นั้นก่อนที่จะมีการจ่ายให้กับนักลงทุนที่เป็นผู้ถือหรือผู้ครอบครอง
2. กรณีมีกำไรจากการขาย (Capital Gain) ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 ระบุว่าหากมีการขายสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วมีกำไรจากการขาย ทางผู้ขายมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากกำไรที่เกิดขึ้นก่อนมีการจ่ายเงินให้นักลงทุน
แม้ว่าจะถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว 15% นั้น แต่ยังคงต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเงินได้ฯ เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาตอนปลายปีด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก – ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล
– msn การเงินและการลงทุน
#NewsandTalk #Ratchatanews.com #ChiangMaiTalkNewspaper
#สินทรัพย์ดิจิทัล #ภาษี #เก็บภาษี #สรรพากร #เศรษฐกิจ