เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) ร่วมประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติท้องที่จังหวัดเชียงใหม่
โดยมีนายเดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ คุณนนท์ นาคเสถียร CSR ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณบัณรส บัวคลี่ ผู้สื่อข่าวอาวุโสเชียงใหม่โดยสรุปประเด็นการหารือดังนี้
1.) ป่าชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 มีจำนวน 541 ป่าชุมชน โดยที่ประชุมได้เสนอให้มีการจัดทำคำสั่งคณะทำงานสนับสนุนการจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนระดับหมู่บ้านในการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชนให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ว่าด้วยการจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชน พ.ศ. 2563
2.) แนวทางการจัดการไฟป่าและฝุ่นควันภายใต้กฎหมายและนโยบายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้เสนอให้มีการจัดประชุมเสวนาเกี่ยวกับการถ่ายโอนภารกิจไฟป่าให้กับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จำนวน 123 แห่ง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในแนวทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพ
3.) การเพิ่มพื้นที่ป่า โดยการเชิญชวนราษฎรในชุมชนปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่า เช่น ในพื้นที่ คทช. โดยให้มีการปลูกพืชนำร่องเช่น ไผ่ ไม้สักฯ ซึ่งอยากให้มีการทำเป็นตัวอย่างสักหนึ่งอำเภอ เช่น แม่แจ่ม แซนบล๊อก เมื่อต้นไม้โตสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้และสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่
4.) คทช. ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ได้รับอนุญาต มี 12 พื้นที่ เนื้อที่ 62,665-3-10 ไร่ อยู่ในท้องที่อำเภอแม่ออน จอมทอง ฮอด ฝาง แม่แจ่ม ไชยปราการ กัลยา สันทราย และเชียงดาว สำหรับแนวทาง
การดำเนินงานตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 มีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
– กลุ่มที่ 1 พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 3,4,5 ก่อนมติครม. 30 มิ.ย. 41 มีเงื่อนไข คือ อนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย
– กลุ่มที่ 2 พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 3,4,5 หลังมติครม. 30 มิ.ย. 41 มีเงื่อนไข คือ ปลูกป่าเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 50% ของพื้นที่ อนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินแบบแปลงรวม
– กลุ่มที่ 3 พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1,2 ก่อนมติครม. 30 มิ.ย. 41 มีเงื่อนไข คือ ส่งเสริมราษฎรปลูกป่า 3 อย่าง ตามแนวพระราชดำริร้อยละ 20 ของพื้นที่
– กลุ่มที่4 พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1,2 หลังมติครม. 30 มิ.ย. 41 มีเงื่อนไข คือ การใช้ประโยชน์ระหว่างแถว จัดทำบันทึกข้อตกลงการดำเนินงานร่วมกับกรมป่าไม้
สำหรับบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความสร้างสรรค์ที่แต่ละฝ่ายมุ่งแก้ปัญหาผืนป่าเพื่อประชาชน ทำให้การหารือมีการบ้านที่แต่ละฝ่ายต้องไปดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนภารกิจ ให้ปัญหาแต่ละเรื่องที่เสวนาได้รับการแก้ไขและขับเคลื่อนโดยเร็ววัน
#NewsandTalk #Ratchatanews.com #ChiangMaiTalkNewspaper
#สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ #ปัญหาไฟป่าหมอกควัน #เขตป่าสงวนแห่งชาติ
#ปัญหาฝุ่นควัน #เชียงใหม่