ศบค. รายงาน โควิด-19 “สายพันธุ์โอมิครอน” ระบาดแล้ว 56 ประเทศ ทั่วโลก เผย ไทม์ไลน์ ล่ามหญิงไทยจากไนจีเรีย 2 ราย ลุ้น 1-2 วัน พบเชื้อหรือไม่ วอน ปชช. ใส่หน้ากากป้องกัน
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,618 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,562 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,467 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 95 ราย มาจากเรือนจำ 40 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 5,775 ราย อยู่ระหว่างรักษา 64,200 ราย อาการหนัก 1,217ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 321 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 38 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 20 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 27 ราย มีโรคเรื้อรัง 5 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดใน กทม. 7 ราย ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,151,384 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,067,149 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,035 ราย ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. เพิ่มเติม 263,684 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ทั้งสิ้น 95,879,742 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 267,387,468 ราย เสียชีวิตสะสม 5,286,518 ราย
พญ.สุมณี กล่าวว่า สำหรับ 10 อันดับจังหวัดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด กทม. 847 ราย นครศรีธรรมราช 241 ราย สงขลา 182 ราย เชียงใหม่ 134 ราย สุราษฎร์ธานี 133 ราย ชลบุรี 109 ราย ปัตตานี 104 ราย พัทลุง 86 ราย สมุทรปราการ 83 รายและตรัง 82 ราย โดยมี 2 จังหวัดไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อคือ แพร่ และอำนาจเจริญ ส่วนคลัสเตอร์โรงงานและสถานประกอบการ พบที่ กทม. ลำพูน สิงห์บุรี ชลบุรี คลัสเตอร์ตลาด พบที่ พิษณุโลก ขอนแก่น เชียงใหม่ ยะลา ตาก และลำพูน คลัสเตอร์แคมป์คนงาน พบที่ กทม. ปราจีนบุรี สมุทรปราการ คลัสเตอร์โรงเรียน พบที่ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ อุบลราชธานี คลัสเตอร์ค่ายทหารพบที่ ปัตตานี และคลัสเตอร์ร้านอาหารพบที่ อุบลราชธานีและสุราษฎร์ธานี สำหรับจังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชาชนทั่วไปน้อยที่สุด 10 จังหวัดได้แก่ หนองบัวลำภู สุรินทร์ บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สมุทรสงคราม พิษณุโลก และศรีสะเกษ ส่วนการฉีดครอบคลุมประชากรกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวน้อยที่สุด 10 จังหวัดได้แก่ ราชบุรี นครนายก ปัตตานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี แม่ฮ่องสอน นราธิวาส สมุทรสาคร ลพบุรี จึงขอให้ประชาชนในจังหวัดเหล่านี้เร่งฉีดวัคซีน
พญ.สุมณี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโอมิครอนทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อแล้ว 56 ประเทศ เป็นประเทศที่มีการติดเชื้อในประเทศ 20 ประเทศ โดยเพิ่มใหม่ 1 ประเทศ คือโมซัมบิก และเป็นการติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ 36 ประเทศ โดยเพิ่มใหม่ 1 ประเทศคือ ยูกันดา โดยทั้ง 56 ประเทศยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเชื้อดังกล่าว ส่วนผู้ติดเชื้อในไทยขณะนี้มีรายงานเข้ามา 3 ราย รายที่ 1 เป็นชายอายุ 35 ปี สัญชาติอเมริกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ไปแล้ว ซึ่งรายดังกล่าวไม่มีอาการและอยู่ระหว่างการกักตัวที่โรงพยาบาล สำหรับวันนี้มีรายงานเพิ่มอีก 2 ราย เป็นกลุ่มล่ามที่เข้าร่วมประชุมคริสตจักรที่ประเทศไนจีเรีย ระหว่างวันที่ 13-23 พ.ย. ซึ่งในกลุ่มนี้มีผู้ร่วมคณะทั้งหมด 20 คน เป็นคนไทย 3 คน โดยผู้ติดเชื้อรายที่ 2 และ 3 เป็นหญิงไทยอายุ 36 ปี และ 46 ปี สำหรับคนไทยอีกหนึ่งรายเมื่อประชุมเสร็จได้เดินทางต่อไปประเทศสวีเดน ทำให้มีผู้เดินทางเข้าประเทศไทยเพียง 2 ราย ทั้ง 2 รายได้ตรวจ RT-PCR ที่ไนจีเรียเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ผลเป็นลบ จากนั้นวันที่ 23 พ.ย. ขณะที่จะเดินทางกลับเริ่มมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยและไอ เมื่อเดินทางถึงไทยวันที่ 23 พ.ย.ได้เข้าสู่ระบบการกักตัวทันที เนื่องจากทั้ง 2 คนไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่ได้มาจาก 63 ประเทศต้นทาง เมื่อกักตัวผลตรวจ RT-PCR ผลเป็นบวกทั้งคู่ จึงย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนครบกำหนดวันที่ 5 ธ.ค. แต่เนื่องจากวันที่ 26 พ.ย. องค์การอนามัยโลก ประกาศให้เชื้อโอมิครอนเป็นสายพันธุ์น่ากังวล จึงนำตัวอย่างจากทั้ง 2 รายที่เดินทางจากทวีปแอฟริกามาตรวจเพิ่มเติม ผลพบว่ามีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะติดเชื้อโอมิครอน ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการถอดรหัสพันธุ์กรรมเพื่อยืนยันว่าเป็นโอมิครอน โดยผลจะออกภายใน 1-2 วัน ระหว่างนี้กรมควบคุมโรคได้สอบสวนโรคเพิ่มเติมพบว่าทั้ง 2 ราย ระหว่างไปประชุมที่ไนจีเรียทำกิจกรรมโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ประกอบกับไม่ได้รับวัคซีนทั้งคู่ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงได้รับเชื้อพร้อมกันนี้ได้สอบสวนผู้สัมผัสใกล้ชิดกับ 2 รายถ้ามีความคืบหน้าจะนำเรียนให้ทราบต่อไป
พญ.สุมณี กล่าวว่า แม้ว่าทั้ง 2 ราย จะรักษาตัวจนครบเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา แต่เราได้มีการติดต่อให้คุมสังเกตตัวอีก 7 วันเพื่อสังเกตอาการ สำหรับหญิงไทยที่ร่วมคณะไปไนจีเรียและเดินทางต่อไปยังสวีเดน จากการตรวจสอบพบเชื้อด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การแพร่เชื้อโอมิครอนในปัจจุบันมาตรการส่วนบุคคลยังคงใช้ได้เสมอ จึงขอให้ประชาชนคุมเข้มมาตรการเพราะเชื้อโรคไม่มีทางทะลุหน้ากากอนามัยออกมาภายนอกได้
พญ.สุมณี กล่าวว่า สำหรับข้อมูลความก้าวหน้าการติดตามผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงสูงในทวีปแอฟริกา ระหว่างวันที่ 15-27 พ.ย. มีผู้เดินทางจาก 8 ประเทศเสี่ยงสูงทั้งสิ้น 333 คน ออกนอกประเทศไปแล้ว 55 คน ครบ 14 วันแล้ว 113 คน อยู่ระหว่างการกักตัวและติดตามตัวได้ 152 คน ยังเหลืออีก 13 คนที่ต้องติดตามตัวเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามการตรวจ RT-PCR ทั้ง 152 คนนั้น ทั้งหมดไม่มีอาการและไม่พบเชื้อ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยในมาตรการคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศว่ามีประสิทธิภาพ สามารถวินิจฉัยผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว
#NewsandTalk #Ratchatanews.com #ChiangMaiTalkNewspaper
#ศบค #โควิด19 #สายพันธุ์โอมิครอน