วันที่ 13 กันยายน 2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเครือข่ายภาคีระดับประเทศ พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของกรมฯ โดยมีดร.แสงจันทร์ วายทุกข์ ผู้อำนวยการกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย กล่าวรายงาน
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เปิดเผยในขณะเป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายภาคีระดับประเทศ ว่า จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขยะทะเล การทำประมงผิดกฎหมาย การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน และพื้นที่คุ้มครองทางทะเล อันส่งผลกระทบและสร้างความเสื่อมโทรมแก่ทรัพยากรเป็นอย่างมาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งมีพันธกิจในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก และเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อสั่งการของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ที่มุ่งเน้นเรื่องของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับพี่น้องเครือข่ายอาสาสมัครทุกภาคส่วน อีกทั้งส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของทุกเครือข่ายอย่างเต็มที่
โดยท่านได้กำชับให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คอยกำกับ ดูแล หน่วยงานในสังกัด ทส. อย่างใกล้ชิด และแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร่งด่วน ผ่านการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายชุมชนและท้องถิ่น ทั้งนี้ ตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้กองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 – 10 จัดประชุมภาคีเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 10 ครั้ง ในห้วงของเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจ รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และวางกรอบแนวคิดการทำงาน
ซึ่งภายหลังจากการประชุมแล้วเสร็จ เบื้องต้นได้มีการสรุปประเด็นข้อเสนอแนะออกเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการกัดเซาะชายฝั่ง และด้านการกำหนดมาตรการต่างๆ ซึ่งปัญหาและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมดังกล่าวกรมฯ จะได้นำมาเป็นแนวทางการกำหนดแผนงานในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหา ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต่อไป รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเข้าใจถึงปัญหาในระดับพื้นที่ ร่วมกันพิจารณาและกำหนดกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อต่อยอดในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ
นายอภิชัย รรท.อทช. กล่าวถึงความสำเร็จในการลงพื้นที่พบปะพี่น้องเครือข่ายฯ ทั้ง 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล ว่า ปัจจุบันกรมฯ มีจำนวนชุมชนชายฝั่งที่ขึ้นทะเบียนแล้ว รวมทั้งสิ้น 663 ชุมชน มีจำนวนสมาชิก 17,242 คน และมีจำนวนอาสาสมัครพิทักษ์ 29,125 คน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรสำคัญ ที่คอยช่วยเป็นหูเป็นตาและสอดส่องดูแลทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พร้อมขับเคลื่อนการอนุรักษ์เชิงรุก โดยมุ่งเป้าไปที่ความยั่งยืนของทรัพยากรหน้าบ้านของชุมชน ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน
อาทิ การวางซั้งปลา การปลูกปะการัง การปลูกหญ้าทะเล การปลูกป่าชายเลน และการปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้กับเยาวชน จากความมุ่งมั่นในความสำเร็จ กรมฯ เดินหน้าสานต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผ่านเวทีการประชุมเครือข่ายภาคีระดับประเทศ