“ทวี สอดส่อง” ลุยแก้ปัญหาหนี้ กยศ. เรียกผู้จัดการกองทุนฯ – อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ หารือด่วน พร้อมสั่งตั้งคณะทำงานร่วม ประเดิมงดบังคับคดีลูกหนี้ ช่วยผู้ค้ำประกัน ด้าน กยศ.เร่งออกหลักเกณฑ์ใหม่ เปิดปรับโครงสร้างหนี้ 1 พ.ย. ลดดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ตามกฎหมายใหม่
19 กันยายน 2566 “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ได้เชิญ “นายเรืองศักดิ์ สุวารี” อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ “นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์” ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับ ความคืบหน้าการดำเนินงานการไกล่เกลี่ยหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และแนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา
โดย นายชัยณรงค์ ได้รายงานว่า ปัจจุบัน กยศ. อยู่ระหว่างการจัดทำระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้ใหม่ และการระงับการชำระเงินคืนเพื่อให้เป็นตาม พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่ โดยคาดว่าจะออกระเบียบ ข้อบังคับ และหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ภายในเดือนตุลาคม 2566 และจะเริ่มให้ลูกหนี้ กยศ. เข้ามาทำการปรับโครงสร้างหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การแก้หนี้ กยศ. เป็นหนึ่งในโครงการ Quick win ของกระทรวงยุติธรรมที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วน โดยเห็นควรให้มีการตั้งคณะทำงานของกระทรวงยุติธรรม เพื่อร่วมแก้ปัญหาหนี้ กยศ. ซึ่งตาม พ.ร.บ. กยศ. ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จะทำหนังสือแจ้งกรมบังคับคดี เพื่องดการบังคับคดีออกไปก่อน ในระหว่างที่รอออกระเบียบฉบับใหม่ ตาม พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยจะมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และวิธีการชำระหนี้ ซึ่งจะมีลูกหนี้ทั่วไป และลูกหนี้ที่ปัจจุบันเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งที่เป็นลูกหนี้และผู้ค้ำประกันให้กับลูกหนี้ กยศ. ได้รับประโยชน์
“ขอเน้นย้ำว่ากระทรวงยุติธรรมและกองทุน กยศ. จะร่วมกันดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย กยศ. ฉบับใหม่ ที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2566 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะทำให้ลูกหนี้ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยเงินที่ลูกหนี้ชำระเข้ามา จะถูกนำไปชำระเงินต้นก่อน แล้วตามด้วยดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน กยศ. ที่มิได้ต้องการแสวงหากำไร แต่เป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากขึ้น” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
สำหรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566
มีผลใช้บังคับวันที่ 20 มี.ค. 2566 ทั้งนี้ พ.ร.บ. กองทุนฯ (ฉบับที่ 2) ไม่มีบทเฉพาะกาลในการบังคับใช้ พ.ร.บ. กองทุน (ฉบับที่ 1) ดังนั้น เมื่อไม่มีบทเฉพาะกาล พ.ร.บ. กองทุน (ฉบับที่ 1) จึงเป็นอันสิ้นผล
ปัญหา
ปัจจุบันผู้กู้ยืมเงินยังคงถูกหักเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ในอัตราเดิม (ดอกเบี้ย 7.5% เบี้ยปรับ 18 %) ทั้งๆที่บทกฎหมายดังกล่าวไม่มีสภาพบังคับแล้ว ทำให้ผู้กู้ยืมได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก โดยเป็นกรณีที่ถูกหักเงินเกินกว่าที่ต้องชำระตามกฎหมายที่มีการแก้ไขใหม่
หนี้ที่อยู่ในชั้นบังคับคดี ผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันยังคงถูกยึด อายัด ขายทอดตลาด ตามกฎหมาย เดิม ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายใหม่ที่มีผลใช้บังคับแล้ว
1.ข้อเท็จจริง
มาตรา 29 บัญญัติว่า “เมื่อมีการดำเนินการตามมาตรา 44 วรรคสี่ ภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับกับผู้กู้ยืมเงิน ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้นั้น”
มาตรา 44 วรรค 4 บัญญัติว่า “เพื่อบรรเทาภาระของผู้กู้ยืมเงินให้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ กองทุนอาจผ่อนผัน ให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนกองทุนแตกต่างไปจากจำนวน ระยะเวลา หรือวิธีการที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง หรือ ลดหย่อนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืนกองทุนตามที่ ผู้กู้ยืมเงินร้องขอ เป็นรายบุคคลหรือเป็นการทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”
ข้อเสนอ
1.จากบทบัญญัติที่มีการแก้ไขใหม่ดังกล่าวข้างต้น เมื่อกองทุนมีการดำเนินการตามมาตรา 44 แล้ว จะเป็นผลให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวง รวมทั้งหนี้ในชั้นบังคับคดีด้วย ดังนั้น ในระหว่างรอคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังจึงเห็นควร ให้ กยศ. ในฐานะโจทก์ งดการบังคับคดีไว้ชั่วคราวก่อนทุกคดี
2.คดีที่อยู่ในชั้นบังคับคดี
2.1 กรณีมีหมายบังคับคดี แต่ยังไม่มีการยึดหรืออายัด และระยะเวลาบังคับคดีเหลือมากกว่า 6 เดือน ให้รอการบังคับคดีไว้ก่อน
2.2 หากคดีอยู่ระหว่างรอการทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่าย ให้โจทก์แถลงขอให้รอการทำบัญชี
2.3 ตามกฎหมาย การของดการบังคับคดีของ กยศ. โจทก์ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ จำเลย ดังนี้ หากเป็นกรณีที่ติดต่อลูกหนี้ไม่ได้ ให้โจทก์ขอศาลงดการบังคับคดี
3.กยศ. มีประเด็นว่าคดีที่อยู่ในชั้นศาล และชั้นบังคับคดี อาจมีปัญหาเรื่องอายุความ หรือ ระยะเวลาบังคับคดี ทำให้ กยศ. ต้องเร่งดำเนินการ จึงเสนอให้ทำการแปลงหนี้ใหม่ เพื่อเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยคณะกรรมการต้องเร่งออกหลักเกณฑ์ ทั้งการผ่อนผันการชำระ การปรับโครงสร้างหนี้ และการแปลงหนี้ใหม่
2.ข้อเท็จจริง
มาตรา 44 วรรค 2 บัญญัติว่า คณะกรรมการจะกำหนดให้เริ่มคิดดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กู้ยืมเงินนับแต่เวลาใด ภายหลังที่สำเร็จการศึกษา เลิกการศึกษา หรือพ้นสภาพการศึกษาแล้วก็ได้ แต่อัตราดอกเบี้ย หรือประโยชน์อื่นใดที่คิด ณ วันที่ทำสัญญา ต้องไม่เกินอัตราร้อยละหนึ่งต่อปี และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น หรือจะยกเว้นหรือลดหย่อนดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ยืมเงินที่ชำระเงินคืนกองทุนครบถ้วน หรือมีประวัติ ชำระเงินคืนกองทุนดีต่อเนื่อง หรือกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา 44 วรรคท้าย บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินผู้ใดผิดนัดการชำระเงินคืนกองทุน และไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผันตามวรรคสี่ ผู้กู้ยืมเงินต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าต่อปี เว้นแต่คณะกรรมการจะยกเว้นหรือลดหย่อนให้ ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา 44/1 บัญญัติว่า หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 19 (8) ต้องเป็นไปตามหลักการดังต่อไปนี้
(1) ระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนกองทุน ต้องคำนึงถึงรายได้และความสามารถในการชำระเงินคืนของผู้กู้ยืมเงินประกอบด้วย แต่ต้องไม่เกินสิบห้าปีนับแต่วันที่มีหน้าที่ต้องชำระ เว้นแต่กรณี ที่มีเหตุจำเป็นและสมควรจะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีกก็ได้
(2) การผ่อนชำระเงินคืนกองทุนเป็นงวด ผู้กู้ยืมเงินต้องสามารถชำระเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีได้
(3) ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินมีหนี้ค้างชำระทั้งต้นเงิน ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่ม เงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระให้นำไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และ เงินเพิ่มตามลำดับ
(4) การให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาตรีให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคำนวณเงิน ที่จะต้องใช้ในห้าปีถัดไปแล้ว ยังมีเงินเหลือจากการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี
(5) การกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินไม่ผิดนัดชำระเงินคืนกองทุนหรือชำระเงินคืน กองทุนครบถ้วนก่อนกำหนดเวลา ซึ่งอาจเป็นการลดหย่อนต้นเงินหรือให้ประโยชน์อื่นใดก็ได้
ข้อเสนอ
เนื่องจากปัจจุบันผู้กู้ยืมเงินยังคงถูกหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์เดิม ซึ่งคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับในจำนวนที่สูง เป็นเหตุให้ผู้กู้ยืมได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่มีการแก้ไขใหม่ จึงเห็นควรประสาน กยศ. เพื่อดำเนินการคำนวณยอดหนี้ย้อนหลังให้เป็นไปตามตามกฎหมายใหม่ โดยเร่งด่วน
ทั้งนี้ การปรับลดยอดผ่อนชำระ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ ตามมาตรา 44/1 ด้วย
หมายเหตุ ความชัดเจน (ยืนยันจากผู้จัดการ กยศ. 18 ก.ย. 66)
ลูกหนี้ กยศ ที่ชำระไปแล้วในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ ต้องนำ ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ที่ลูกหนี้ได้ชำระไปแล้ว มารวมคำนวณ เพื่อปรับลดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ที่รวมไม่เกิน 1.5% โดยลำดับหักการชำระหนี้ เงินต้น>ดอกเบี้ย >เบี้ยปรับ รวมทั้งที่ถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี บังคับคดีประมาณ 4.7 หมื่นคดีด้วย (ในชั้นบังคับคดีแม้ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่มีมีกฎหมายออกมาใหม่ที่ถือว่าใหญ่กว่าคำพิพากษา ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย มีข้อเสนอที่ให้กรมบังคับคดีรวบคดีที่ใกล้หมดอายุความยืนคำร้องให้ศาลสั่งเพื่อเป็นไปตามกฎหมาย) ลูกหนี้ กยศ. จะได้ประโยชน์ บางรายอาจหลุดพ้นจากการเป็นหนี้
ดังนั้น การไกล่เกลี่ย ปัจจุบันควรต้องชลอ หนี้ กยศ. และต้องใช้หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ ฉบับใหม่ ในการไกล่เกลี่ยเพื่อความเป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนด
สำนักข่าว RATCHATA NEWS