วันนี้ (19 ธันวาคม 2566) เวลา 15.30 น. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม // นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามกำกับดูแล นั้น โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มาจากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม และฝุ่นจากควันท่อไอเสียรถยนต์
นายจตุพร กล่าวว่า “ในช่วงบ่ายของวันนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ได้หารือแนวทางมาตการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้มีแนวทางร่วมกันที่จะใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าช่วยในการคุมเข้มการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าว อ้อย และข้าวโพด พร้อมทั้งการสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าและอุปกรณ์เครื่องจักรในการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น การอัดฟางเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ ทั้งยังได้เตรียมพร้อมผนึกกำลังอาสาสมัครในพื้นที่ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เฝ้าระวังการเผาในพื้นที่อย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบร่วมกันที่จะให้มีการลงนาม MOU ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศสงครามกับฝุ่น PM2.5 เพื่อควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ป่า และพื้นที่ในเขตเมือง โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนนี้ ให้ได้อย่างจริงจัง เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้มีสภาพอากาศปิด และเพดานการลอยตัวของอากาศมีแนวโน้มลดต่ำลง ทำให้การกระจายตัวของฝุ่นละอองไม่ดี โดยจะนำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม และแนวทางข้อเสนอที่ได้จากการหารือวันนี้ เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ที่จะมีการประชุมในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้ ซึ่งมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน
และในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้หารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการจราจร หรือควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กรมการขนส่งทางบก และกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มจุดตรวจจับควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ให้ครอบคลุมพื้นที่วิกฤตยิ่งขึ้น รวมถึงการเข้มงวดวินัยการจราจร การเข้มงวดการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี และการตรึงพื้นที่เพื่อลดจำนวนรถบรรทุกและรถโดยสารเข้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคตในช่วงวิกฤต
นอกจากนี้ นายจตุพร ยังได้เปิดเผยถึง 11 มาตรการเพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 ในปี 2567 ที่ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ได้แก่ 1) การเตรียมความพร้อมการควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาในพื้นที่ 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า จัดระเบียบควบคุมผู้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ 2) การเตรียมความพร้อมการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตการเผาและการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ 3) การนำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2.5 Free) มาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4) จัดหาและสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เหมาะสมในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตร และมาตรการไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ 5)
การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยนำมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ และจัดตั้งศูนย์รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 6) การพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขเรื่องการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน 7) การพิจารณาสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจให้ภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 8) การผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 9) การลดปริมาณฝุ่นละอองจากรถบรรทุก รถยนต์ รถจักรยานยนต์
โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี และการตรวจจับควันดำ การเข้มงวดวินัยจราจร การคืนพื้นผิวจราจรบริเวณการก่อสร้างรถไฟฟ้า การลดจำนวนรถยนต์ในท้องถนน โดยเฉพาะในพื้นที่เมือง สร้างจุดจอดแล้วจร และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนใช้รถยนต์ไฟฟ้า 10) การลดปริมาณฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างและอื่นใด และ 11) การกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
นายจตุพร ยังได้เน้นย้ำว่า “การดำเนินการตาม 11 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือ ความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน เพื่อช่วยกันลดต้นตอของการเกิดฝุ่น เพื่อร่วมกันคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับเราทุกคน และเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของคนไทยทุกคน”
สำนักข่าว RATCHATA NEWS