วันนี้ (25 ม.ค. 67) เวลา 09.00 น. ที่วัดวชิราลงกรณวราราม วรวิหาร ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ จังหวัดนครราชสีมา พร้อมมอบแนวทางขับเคลื่อนงานอารยเกษตรสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SA to SEDZ) โดยได้รับความเมตตาจากพระราชวชิราลังการ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (ธ) เจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณวราราม วรวิหาร ร่วมพิธี โดยมี รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจารย์คณิต ธนูธรรมเจริญ ที่ปรึกษาเครือข่ายลุ่มน้ำแม่กวง/หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานสถาบันทิวา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมในงาน โอกาสนี้ นางอรจิรา ศิริมงคล ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครราชสีมา นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ
พระราชวชิราลังการ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (ธ) เจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณวราราม วรวิหาร กล่าวสัมโมทนียกถาความว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้พระราชทานก่อสร้างวัดวชิราลงกรณวราราม วรวิหาร ขึ้น โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็นวัดเพื่อเด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชน ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพระราชปณิธานในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” โดยทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเพื่อให้คนไทยได้มีวัดเป็นหลักชัย เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ นำไปสู่การทำสิ่งดีเพื่อสังคม ซึ่งคณะสงฆ์วัดวชิราลงกรณวราราม วรวิหาร ได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริสู่การพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา เริ่มตั้งแต่การใช้พื้นที่ว่างสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน พร้อมทั้งได้นำนโยบายของมหาเถรสมาคมและกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนพลัง “บวร” โดยการมีส่วนร่วมของคณะสงฆ์กับฝ่ายบ้านเมือง โดยมีชุมชนเป็นส่วนสำคัญ วันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการที่เราได้มาร่วมกันประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการจากทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ จึงขออนุโมทนาทุกท่านและทุกหน่วยงานที่ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนงานของวัดวชิราลงกรณวราราม วรวิหาร มาโดยตลอด
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาสู่การขับเคลื่อนให้พี่น้องประชาชนได้ปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิตประจำวันเป็นสิ่งสำคัญ อันเป็นพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” โดยทรงสืบสานต่อยอดพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และต่อมาได้มีพระราชดำรัส ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำมาเป็นหลักปฏิบัติโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทั่วประเทศ ได้อัญเชิญพระราชดำรัสองค์ดังกล่าว ประดับไว้บริเวณศาลากลางจังหวัดและที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง เพื่อเตือนใจข้าราชการให้ตระหนักอยู่เสมอว่า เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนในฐานะพสกนิกรผู้จงรักภักดีที่ต้องช่วยกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างมุ่งมั่นและตั้งใจ เพื่อทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข
“”ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” เป็น 2 สิ่งที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันมีนัยสำคัญและมีความลึกซึ้งอย่างยิ่งควบคู่กับการ “แก้ไขในสิ่งผิด” เพราะที่ผ่านมาแผ่นดินไทยของเราเคยมีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ทุกคนมีจิตใจดี มีความรัก ความสามัคคี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ที่ในปัจจุบันเริ่มเลือนรางจางหายไป จึงต้องช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิดด้วยการเชิญชวนให้พวกเราได้ร่วมกันเป็นจิตอาสาพระราชทาน ที่ “ทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ยุยงให้คนในสังคมช่วยกันคิดคำนึงถึงการเป็นจิตอาสา เพื่อทำสิ่งที่ดีให้กับสังคม นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนการแก้ไขในสิ่งผิดในการดำรงชีวิตผ่านกลไกในระดับพื้นที่ด้วยระบบ ThaiQM โดยมีนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ไปค้นหาปัญหาครัวเรือนแบบพุ่งเป้า ไม่ว่าจะเป็นการแก้จน การช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือเรื่องอื่น ๆ ซึ่งการจะทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขได้ต้องแก้ไขในสิ่งผิดที่อยู่ในสังคม ซึ่งเป็นการบำบัดทุกข์ ที่จะต้องทำภารกิจบำรุงสุขควบคู่ไปด้วย ดังพันธกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ซึ่ง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่” ถือเป็นการบำรุงสุขเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดทรงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า เราทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด และช่วยกันสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงทำให้เห็นเป็นแบบอย่างผ่านโครงการพระราชดำริมากกว่า 5,151 โครงการ และทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎี ซึ่งพระองค์ได้รวบรวมโดยการสังเกตแล้วมาวิเคราะห์ประมวล โดยมีเป้าหมาย คือ การแก้ไขในสิ่งผิดทั้งสิ้น เช่นเดียวกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มนุษย์ทุกคนต้องหาสาเหตุในการดับทุกข์ เพื่อหาวิธีการทำให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตที่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้อย่างมีคุณภาพ และเพื่อให้มีชีวิตอยู่ยืนยาว มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ท่านใช้หลักการ “สังเกต” จากความเป็นจริงและสิ่งที่เห็น รวมทั้งการการถามไถ่ชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อทำให้ประชาชนแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนด้วยตนเอง และทำให้ทุกคนมีความสุข ภายใต้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่นเดียวกันกับ โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่ภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยน้อมนำแนวพระราชดำริมาสู่การปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อให้มีต้นแบบกระจายไปสู่พื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน พื้นที่อื่นได้มาศึกษาเรียนรู้และสามารถขยายผล ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนดัง “ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี” ตามศาสตร์พระราชา ที่เป็นส่วนสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน
“ขอให้นายอำเภอทุกคนช่วยกันนำพา 7 ภาคีเครือข่ายไปทำให้เกิด “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานพระดำริและพระดำรัสว่า “หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยคือการทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน” โดยมีแนวทางที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการให้ความสำคัญกับ “คน” ที่ต้องเป็นผู้นำต้นแบบ และเป็นผู้นำต้องทำก่อน โดยเฉพาะผู้นำของพี่น้องประชาชนผู้เป็นข้าราชการ ต้องช่วยกันทำให้เกิดปัจจัย 4 พร้อมกับทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้มีเพียงพอสำหรับรับประทานได้ในทุกวัน กระทรวงมหาดไทยจึงได้ให้ทุกจังหวัดดำเนินการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้เด็กนักเรียนได้มีไข่ไก่รับประทานอย่างน้อยวันละ 2 ฟอง โดยสนับสนุนให้มีไก่ไข่อย่างน้อย 2 ตัวต่อคน ดังหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เราได้สรุปจากบันได 9 ขั้น คือ “พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น” และเมื่อมีพอกินพอใช้แล้วก็ให้แบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นอกจากนี้ต้องทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มบ้าน คุ้มบ้าน หย่อมบ้าน โดยมีผู้นำชุมชนไปร่วมกันพูดคุย ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมรับประโยชน์ เริ่มจากจุดเล็กขยายไปสู่จุดใหญ่ ทำให้ทุกพื้นที่เกิดความยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดเป็นหน้าที่ของพวกเรา” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า การประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ในวันนี้ เรามีความมุ่งมั่นทำให้เกิดผลดีขึ้นโดยรวมทั้งประเทศ ดังนั้น หากผู้เข้าร่วมโครงการได้ปฏิบัติลงมือทำ ได้ร่วมกันน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักบันได 9 ขั้น ไปทำให้ครบทุกขั้นตอนและในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน หมู่บ้าน ชุมชน อำเภอ ก็จะสามารถต่อยอดขยายผลไปสู่ภาคธุรกิจได้ และหากได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ตลอดจนมีการขับเคลื่อนร่วมกันในพื้นที่อย่างมุ่งมั่น ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดคุณประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ และเป็นการร่วมกันปฏิบัติบูชาเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยการช่วยกันทำให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ และขอให้ความตั้งมั่นตั้งใจจริงและเจตนาที่ดีของทุกคนได้ดลบันดาลให้โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ มีความเจริญรุ่งเรืองขยายไปเต็มแผ่นดิน ช่วยกันทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างยั่งยืน
ด้านนายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานสถาบันทิวา กล่าวว่า สมาคมสถาบันทิวาได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจชุมชน โดยการประสานบูรณาการความร่วมมือจาก 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคสื่อสารมวลชน ในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการทั้งภาครัฐและเอกชนให้มีประสิทธิผลอย่างยั่งยืน ด้วยหลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งวันนี้เราทำสำเร็จได้เพราะมีคณะสงฆ์วัดวชิราลงกรณวราราม วรวิหาร และผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนช่วยกัน ทำให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย มีที่ดินทำกิน มีอาชีพ มีรายได้มั่นคง มีความสุขกาย และสุขใจ
สำนักข่าว RATCHATA NEWS