วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ จังหวัดจันทบุรี และเป็นประธานมอบเกียรติบัตรแก่ครูและเยาวชนที่เข้าร่วมการอบรมเครือข่ายเยาวชนคชานุรักษ์ ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยมี พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองอำเภอเขาสอยดาว นักเรียนเยาวชน เข้าร่วม ณ หอประชุม อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
สำหรับการจัดอบรมเครือข่ายเยาวชนคชานุรักษ์ จะคัดเลือกเยาวชนจากโรงเรียนในหมู่บ้านคชานุรักษ์ในพระราชดำริ ที่มีช้างป่าเดินข้ามไปมาระหว่างพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ประสงค์ให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องช้างป่า
เพื่อการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยและรู้จักใช้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้ช้างป่าเป็นแนวในการเดินเรื่องเนื้อหา เพื่อให้นักเรียนและเยาวชนในชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยสืบสานแนวพระราชดำริ ทั้งในวันนี้และในอนาคต
จากนั้นเวลา 13.00 น. พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ พร้อมคณะได้เดินทางไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรับฟังการบรรยายผลการดำเนินงานโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไปรับฟังปัญหาอุปสรรค พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และเครือข่ายอาสาชุดผลักดันช้าง โดยมี นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายก้องเกียรติเต็มตำนานผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรายงานการดำเนินงานโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ของปีงบประมาณปี พ.ศ. 2566 และแผนการดำเนินของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ดำเนินงานภายใต้ แผนปฏิบัติการสร้างความสมดุลระหว่างคนและช้างป่า โดย เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 แบ่งออกเป็น 3 ด้านตามพื้นที่ ดังนี้ ด้านที่ 1 การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่า (วงใน : พื้นที่ช้างอาศัย) เพิ่มศักยภาพถิ่นอาศัยของช้างป่า และการจัดการประชากรช้างป่า ด้านที่ 2 การจัดการพื้นที่แนวกันชน (วงกลาง : พื้นที่พักช้าง) สร้างจุดพักช้างในป่าชุมชนเพื่อดึงช้างกลับสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพป่าชุมชน และจัดทำระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า และด้านที่ 3 การจัดการพื้นที่ชุมชน (วงนอก : พื้นที่ชุมชนอาศัย) สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนปรับเปลี่ยนอาชีพ พัฒนาอาชีพ สร้างกระบวนการเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตือนภัยให้กับชุมชน และสร้างระบบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาช้างป่าและการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์ช้างป่าตลอดจนลดปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งประกอบไปด้วย การป้องกันและการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ โดยการจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อผลักดันช้างกลับคืนสู่ป่า การสร้างคูกันช้างป่า การสร้างรั้วไฟฟ้า การปลูกพืชเพื่อเป็นรั้วธรรมชาติ การศึกษาวิจัยปัจจัยต่างๆ
เพื่อเยียวยาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร และการประชาสัมพันธ์สร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ให้เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ ติดตาม เฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์และต้อนกลับคืนสู่ป่าอนุรักษ์ดังเดิม เพื่อป้องกันอันตราย ลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่แนวเขตป่าที่ได้รับผลกระทบ
สำนักข่าว RATCHATA NEWS