สถานการณ์ฉุก…คิด
หลังจากรัฐบาลตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่
25 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย และเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้อ
โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.
2548 พร้อมกับมีการประกาศมาตรการออกมาบังคับใช้ดังปรากฏ
โดยรัฐบาลเลือกใช้วิธีการในลักษณะที่เรียกกันทางการแพทย์ว่า “รักษาตามอาการ” ดังจะเห็นได้จากประกาศฉบับที่
1 และ 2 ที่ออกมา ซึ่งหลายภาคส่วนมองว่าน่าผิดหวัง
และเรียกร้องให้ภาครัฐเลือกใช้มาตรการ“ให้ยาแรง” แทนการ“รักษาตามอาการ”
เพราะไหน ๆ ก็ใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว ควรจะให้เป็นไปแบบ“เจ็บแต่จบ”
นั่นเอง
และดูเหมือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 หรือโรคโควิด-19 จะยังไม่เป็นที่น่าพอใจของภาครัฐเท่าที่ควร และที่สำคัญน่าจะไม่เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ของภาครัฐแม้แต่น้อย
จึงทำให้ในวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา
ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องออกประกาศฉบับที่ 2
(เพิ่มเติม) ว่าด้วยการห้ามบุคคลใดในราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่าง 22.00 –
04.00 น. ยกเว้นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น หรือได้รับอนุญาต ที่เรียกกันว่าการประกาศ“เคอร์ฟิว”
นั่นเอง นับเป็นการ“รักษาตามอาการ” ที่เริ่ม“ให้ยาแรง” ขึ้นตามลำดับ
แต่แน่นอนนี่ยังไม่ใช่“ยาแรง” ที่สุดอยู่ดี
ซึ่งรัฐบาลก็ออกมายอมรับอยู่กลาย ๆ ว่า หากมาตรการนี้ไม่ได้ผล อาจมีการห้ามออกนอกเคหสถาน
หรือ เคอร์ฟิว 24 ชม.ก็เป็นได้
นับจากที่เริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
มาจนถึงวันที่เริ่มประกาศใช้มาตรการ“เคอร์ฟิว” กินเวลาล่วงเลยมา 8 วัน เป็น
8 วันที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไม..? รัฐบาลเลือกใช้วิธี“รักษาตามอาการ”เกิดอะไรขึ้นกับชายชาติทหารที่มีความเด็ดเดี่ยวอย่าง
พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ในฐานะผู้ควบคุมสถานการณ์
ยิ่งถ้าย้อนกลับไปดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 63 ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
มีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ 934 ราย เสียชีวิต 4 ราย
ขณะที่ในวันที่ 2 เม.ย. 63 ที่มีการประกาศเคอร์ฟิว มีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ
1,875 ราย เสียชีวิต 15 ราย จะเห็นได้ชัดเลยว่าเพียง 8 วันหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่ม
941 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 11 ราย ตัวเลขทุกอย่างกลับเป็นทวีคูณเลยทีเดียว ยิ่งถ้านับจากวันแรกที่มีรายงานการพบผู้ป่วยโควิด-19
ในไทย เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 63 จนถึงวันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยิ่งเห็นได้ชัดว่าการ
เลือกใช้วิธี“รักษาตามอาการ”
ดังที่รัฐบาลคลำทางอยู่นี้ จึงไม่น่าจะใช่หนทางที่ถูกต้องสักเท่าไร
และจึงยังคงเป็นคำถามดัง ๆ ว่าการประกาศ“เคอร์ฟิว” เพียงบางช่วงเวลาเช่นที่กำลังดำเนินการกันอยู่นี้
จะพาประเทศไปสู่จุดใด หากต้องไปสู่จุดที่ต้องใช้มาตรการ“ให้ยาแรง”
ด้วยการประกาศ“เคอร์ฟิว” 24 ชม. ก็จะมีคำถามกลับมาว่า
ทำไม…? วันที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่ประกาศ“เคอร์ฟิว” 24 ชม. ไปเลย
ซึ่งถ้ามาดูมาตรการต่าง
ๆ ที่รัฐบาลออกมา ก็จะทำให้เห็นชัดว่าทำไม…รัฐบาลถึงเลือก“รักษาตามอาการ”
เช่นที่เห็น
การประกาศปิดสถานที่บางแห่งตามประกาศฉบับที่
1 แต่ไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมารองรับก่อนประกาศ ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติมากมาย ทันทีหลังประกาศเผยแพร่
คนก็แห่เดินทางกลับต่างจังหวัดทันที เพราะกลัวอดตาย เมื่อที่ทำงานถูกคำสั่งให้ปิด
ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายมวลชนครั้งใหญ่ ก่อนที่จะมามีมาตรการกักตัวคนที่เดินทางจาก
กทม.และปริมณฑลตามออกมาในภายหลัง ซึ่งถ้ามีข้อกำหนดห้ามคนเดินทางออกต่างจังหวัด
และมีมาตรการเยียวยาออกมาก่อนประกาศปิด ก็เชื่อว่าคนจะไม่ไปไหน และตัวเลขก็ไม่น่าจะมาถึงขนาดนี้อย่างแน่นอน
ความไม่ชัดเจนของคำสั่งคืออีกหนึ่งปัญหาดังเช่นที่เห็นอยู่
จนต้องมีการออกประกาศมาขยายความในประกาศที่ออกไปก่อนหน้า คือสิ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความบกพร่องของการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินที่วิกฤตเช่นที่ประสบอยู่
หรืออย่างการใช้เงินงบประมาณสูงถึง
1.35 แสนล้านบาทในมาตรการ“เราไม่ทิ้งกัน” ในการเยียวยาคนจำนวน 9
ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้
เนื่องจากคำสั่งของภาครัฐจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้ง ๆ ที่มีคนลงทะเบียนสูงเกินกว่า
20 ล้านคน ก็เกิดคำถามตามมาว่า แล้วคนที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือในมาตรการนี้
เขาจะทำอย่างไร? อยู่อย่างไร? ในสถานการณ์เช่นนี้
หรืออย่างมาตรการลดค่าไฟฟ้า
ค่าน้ำประปา ที่ออกมาด้วยการลดให้ 3 % ที่มองยังไงก็ไม่น่าจะช่วยคนจนหรือคนไม่มีรายได้จากสถานการณ์นี้สักเท่าไร
เพราะปกติคนกลุ่มนี้ก็ใช้น้ำและใช้ไฟฟ้าไม่มากเท่าไร
เช่นถ้าสมมติบ้านผู้มีรายได้น้อยท่านหนึ่งใช้ไฟฟ้าประมาณ 300 บาทต่อเดือน และใช้น้ำประปาอีก
150 บาทต่อเดือน ก็เท่ากับว่าได้ส่วนลดประหยัดไป 13.50 บาท สามารถซื้อไข่ไก่ได้ 2
ฟองเอง (ในสถานการณ์ไข่หายาก ณ ปัจจุบันแผงละ 170 บาท) อันนี้ไม่ต้องพูดถึงการคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าที่มันคือเงินของประชาชนอยู่แล้ว
รัฐต่างหากที่เอาเงินของเขาไปเก็บเอาไว้ทำไมตั้งนาน
เพราะการที่ไม่มีมาตรการที่ดีใด
ๆ รองรับก่อนที่จะออกประกาศอะไรออกมานี่เอง ที่ทำให้รัฐบาลต้องเลือก“รักษาตามอาการ”
เหมือนการแก้ปัญหาแบบแทงหวยเผื่อฟลุ๊ค ก็หยุดสถานการณ์ได้นั่นเอง
นึกภาพไม่ออกเลยว่า
หากรัฐบาลไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาก่อนประกาศ“เคอร์ฟิว” 24 ชม.
(ที่ยังไงก็หนีไม่พ้น) จะเกิดอะไรขึ้น จะโกลาหลขนาดไหน
ยิ่งเห็นฝีมือในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ของรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมาแล้วนั้น พูดได้คำเดียวว่า
“ฉุกคิด..ซิ
คนไทย”